เกี่ยวกับแพลตฟอร์มบริหารจัดการข้อมูลเปิดสำหรับ AI ด้านการแพทย์ (Medical AI Data Sharing Platform)
19 สิงหาคม ค.ศ. 2024ที่มาและความสำคัญ
เว็บไซต์นี้พัฒนาขึ้นภายใต้การดำเนินงานของชุดโครงการ “การพัฒนาแพลตฟอร์มบริหารจัดการข้อมูลเปิดด้านการแพทย์ สำหรับการวิจัย พัฒนาและนวัตกรรม เพื่อการต่อยอดด้านปัญญาประดิษฐ์ของประเทศไทย” ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจาก หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคนและทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) ประกอบด้วยกิจกรรมหลัก ได้แก่ การพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลสุขภาพด้วยปัญญาประดิษฐ์ (กรมการแพทย์) การรวบรวมและสร้างชุดข้อมูลมาตรฐานรูปภาพทางการแพทย์หลากหลายประเภท (กรมการแพทย์, คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล, สวทช.) การพัฒนาแพลตฟอร์มปัญญาประดิษฐ์กลางสำหรับใช้กำกับข้อมูล และการสร้างโมเดลปัญญาประดิษฐ์ (AI model) (คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล, สวทช.) การขยายผลไปสู่การใช้ประโยชน์ (กรมการแพทย์) ผลผลิตที่จะเกิดขึ้น ได้แก่ แพลตฟอร์มการบริหารจัดการข้อมูล ชุดข้อมูลมาตรฐานสำหรับงานทางด้านปัญญาประดิษฐ์ โมเดลปัญญาประดิษฐ์ และการพัฒนากำลังคน เพื่อจะช่วยส่งเสริมให้ประเทศไทยมีความสามารถในการแข่งขันด้วยความเชี่ยวชาญและนวัตกรรมที่สูงขึ้นในด้านการแพทย์ และสามารถส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจและปรับปรุงคุณภาพชีวิตของประชากรไทย
โดยชุดโครงการนี้มีความสัมพันธ์กับ Global Competitiveness Index ในหลายด้านที่สำคัญ ดังนี้
1. ด้านทักษะแรงงาน (Skills) - การพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลสุขภาพและปัญญาประดิษฐ์เสริมสร้างทักษะและความชำนาญของบุคลากรทางการแพทย์และเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งจะช่วยสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพและความสามารถในการแข่งขันระดับโลก
2. ด้านนวัตกรรมและการวิจัย (Innovation and Research) - โครงการนี้ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ในด้านการแพทย์ (Medical AI) และเกิดโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI infrastructure) ซึ่งนำไปสู่นวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ใหม่ที่สามารถนำไปเชื่อมโยง สร้างความร่วมมือ หรือจำหน่ายในตลาดระดับโลก
3. ด้านการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT Adoption) - โครงการนี้ส่งเสริมให้ภาคการแพทย์และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง นำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และ ICT ไปใช้ในการพัฒนาบริการสุขภาพที่มีคุณภาพและความน่าเชื่อถือ
4. ด้านการเปิดกว้างและการปรับปรุงธุรกิจ (Business Sophistication and Adaptability) - ผ่านโครงการนี้ หน่วยงาน/โรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชน กลุ่มคน หรือภาคธุรกิจ หรือ SME ที่เกี่ยวข้องสามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่มีคุณค่าและตอบสนองความต้องการของตลาด ทำให้ธุรกิจสามารถปรับปรุงและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถสร้างธุรกิจหรือขยายธุรกิจอย่างรวดเร็วขึ้น
5. ด้านประสิทธิภาพของตลาด (Market Efficiency) - โครงการนี้จะช่วยเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจและตลาดสินค้าและบริการด้านการแพทย์ ผ่านการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และชุดข้อมูลมาตรฐานที่รวบรวมไว้ เข้ามาปรับปรุงประสิทธิภาพในการวินิจฉัยโรค การบริการในโรงพยาบาล และการส่งเสริมสุขภาพให้กับประชาชน ซึ่งนำไปสู่การแข่งขันและการปรับปรุงคุณภาพบริการสุขภาพในระดับประเทศและระดับโลก
ภาคีเครือข่ายปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ และแพลตฟอร์มบริหารจัดการข้อมูลเปิดสำหรับ AI ด้านการแพทย์ (Medical AI Consortium & Medical AI Data Sharing Platform)
โครงสร้างการรวบรวมข้อมูลทางด้านการแพทย์ของประเทศไทยจะเริ่มต้นจากแหล่งที่เกิดข้อมูล นั่นก็คือ หน่วยบริการทางการแพทย์หรือโรงพยาบาล เปรียบได้เหมือนต้นน้ำ ซึ่งจะมีจำนวนและความหลากหลายของข้อมูลตามลักษณะการให้บริการของโรงพยาบาลนั้นๆ คล้ายกับขนาดของแหล่งน้ำที่เป็นจุดบรรจบของสายน้ำที่อาจจะมีปริมาณน้ำที่แตกต่างกันไปดังเช่น ขนาดของโรงพยาบาลตามชุมชนต่าง ๆ เช่น โรงพยาบาลศูนย์ (รพศ.) โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เป็นต้น ดังนั้น การรวบรวมข้อมูลดิบ (Raw data) ที่ได้จากหน่วยบริการทางการแพทย์ขนาดต่างๆ นั้น จะถูกรวบรวมเสมือนน้ำที่ถูกกักเก็บไว้ในเขื่อน ในที่นี้เราเปรียบได้กับ “เขื่อนของข้อมูล (Data dam) ทางการแพทย์” โดยมีข้อมูลไหลเข้ามาจากแหล่งต่างๆ ที่เป็นพันธมิตร มาเก็บรักษาไว้ในเขื่อนนี้ ก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการประมวลผลข้อมูลเบื้องต้น ได้แก่ คัดกรอง ปกปิดข้อมูลส่วนบุคคล ทำความสะอาด จัดประเภทหรือหมวดหมู่ รวมถึงกำกับข้อมูลเพื่อให้สอดคล้องกับการวิเคราะห์และวินิจฉัยทางการแพทย์ และส่งชุดข้อมูลที่ได้ประมวลผลเบื้องต้นแล้วจัดทำเป็นชุดข้อมูลสำหรับงานทางด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI Data Set) โดยหลัก ๆ จะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มชุดข้อมูลสำหรับเผยแพร่สาธารณะ และกลุ่มชุดข้อมูลสำหรับแบ่งปันสำหรับสมาชิกภาคีเครือข่ายปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ (Medical AI Consortium) เพื่อพัฒนาแบบจำลองทางด้านปัญญาประดิษฐ์ หรือ โมเดล AI สำหรับใช้งานทางการแพทย์ภายใต้ข้อกำหนดของ Medical AI Consortium ซึ่งแบบจำลองนี้ อาจจะถูกพัฒนาขึ้นจากระบบบริการการคำนวณระดับสูงของซูเปอร์คอมพิวเตอร์ เช่น LANTA และถูกนำไปใช้เพื่อพัฒนากำลังคนทางด้าน AI ต่อไป หรืออาจจะนำไปเปิดให้บริการบน National AI Service Platform ของโครงการพัฒนาระบบคลาวด์กลางภาครัฐ (Government Data Center and Cloud service : GDCC) ที่ดูแลโดยสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) หรือแพลตฟอร์มอื่น ๆ ตามข้อกำหนดของ Medical AI Consortium อย่างไรก็ตาม การใช้งานของโรงพยาบาลภายใต้สังกัดของกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข นั้น จะใช้งานผ่านระบบบริการ National AI Service Platform เพื่อให้เกิดความมั่นใจในการให้บริการและข้อมูลของโรงพยาบาลจะถูกดูแลและควบคุมโดยกรมการแพทย์ รวมทั้ง ข้อมูลที่นำเข้าสู่แพลตฟอร์มจะถูกส่งต่อกลับไปสู่ข้อมูลในเขื่อนข้อมูลทางการแพทย์ต่อไป ทั้งนี้เงื่อนไขการใช้ประโยชน์ข้อมูล และการพัฒนาแบบจำลองทาง AI ที่พัฒนาขึ้นจากข้อมูลทางการแพทย์นี้จะถูกกำหนดโดย Medical AI Consortium ภายหลังการจัดตั้งเสร็จสิ้นแล้ว
ประโยชน์การก่อตั้ง Medical AI Consortium และการพัฒนา Medical AI Data Sharing Platform
ช่วยเสริมสร้างความร่วมมือการพัฒนาระบบ AI สำหรับใช้งานด้านการแพทย์ และสร้างคลังข้อมูลทางการแพทย์ ให้เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศ ส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม AI นำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการสาธารณสุข
สมาชิกและหน่วยงานพันธมิตรของ Medical AI Consortium
แพลตฟอร์มบริหารจัดการข้อมูลเปิดสำหรับ AI ด้านการแพทย์
แพลตฟอร์มบริหารจัดการข้อมูลเปิดสำหรับ AI ด้านการแพทย์ (Medical AI Data Sharing Platform) พัฒนาขึ้นเพื่อรองรับการใช้งานของผู้ใช้ 3 กลุ่ม ได้แก่
- โรงพยาบาลและหน่วยงานใน Medical AI Consortium ที่แบ่งปันภาพถ่ายทางการแพทย์
- แพทย์/รังสีแพทย์ที่กำกับข้อมูลภาพถ่ายทางการแพทย์เพื่อนำไปใช้ฝึกสอนโมเดล AI ด้านการแพทย์
- วิศวกรปัญญาประดิษฐ์ (AI engineer) ที่นำข้อมูลบนแพลตฟอร์มไปสร้างโมเดล AI สำหรับการใช้งานทางการแพทย์
ทั้งนี้โดยมี Medical AI Data Sharing Platform เป็นแพลตฟอร์มสนับสนุนการทำงาน ที่ประกอบด้วยโปรแกรมเครื่องมือสนับสนุน 3 ระบบ ได้แก่
- ระบบ CKAN Open-D และ BigStream สำหรับสนุบสนุนการแบ่งปันข้อมูลภาพถ่ายทางการแพทย์อย่างมีธรรมาภิบาลข้อมูล
- ระบบ RadiiView สำหรับสนับสนุนการใส่ป้ายกำกับภาพถ่ายทางการแพทย์ (medical image labelling)
- ระบบ NomadML สำหรับสนับสนุนการสร้างโมเดล AI ด้านการจำแนกภาพ (classification) การตรวจจับวัตถุในภาพ (object detection) และการแบ่งส่วนของภาพ (segmentation) โดยผู้ใช้งานไม่จำเป็นต้องมีความรู้ในการเขียนโปรแกรม (no-code)
โยแพลตฟอร์มบริหารจัดการข้อมูลเปิดสำหรับ AI ด้านการแพทย์ พัฒนาโดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สวทช.
ติดต่อเรา
สำหรับหน่วยงานที่สนใจเข้าร่วมเป็นสมาชิกหรือพันธมิตรของภาคีเครือข่ายปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ และการใช้งานแพลตฟอร์มบริหารจัดการข้อมูลเปิดสำหรับ AI ด้านการแพทย์ กรุณากรอกรายละเอียดในแบบฟอร์มเพื่อการติดต่อกลับ